ปัจจัยที่จำเป็นในการผ่าตัดเปลี่ยนตับ
การผ่าตัดเปลี่ยนตับ (liver
transplantation) เป็นการผ่าตัดเพื่อนำตับปกติไปใส่ให้กับผู้ป่วยที่เป็นโรคตับบางชนิด
โดยตัดเอาตับที่มีพยาธิสภาพออก แล้วใส่ตับปกติไว้ในตำแหน่งเดิม ในช่วงระยะเวลากว่า 30 ปีที่ผ่านมา วงการแพทย์ได้มีวิวัฒนาการต่างๆ
มากมายในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการผ่าตัดเปลี่ยนตับ ทำให้การผ่าตัดเปลี่ยนตับในปัจจุบันเป็นที่ยอมรับกันทั่วไป
มีสถาบันทางการแพทย์ที่ใช้การรักษาโดยวิธีนี้เพิ่มขึ้นทั่วโลก และผู้ป่วยที่มีอัตราการอยู่รอดหลังจากการผ่าตัดชนิดนี้ทวีจำนวนขึ้นเรื่อยๆ
ตับเป็นอวัยวะหนึ่งที่มีหน้าที่สำคัญมากมายหลายประการ มีความจำเป็นในการดำรงชีวิต
หากเกิดพยาธิสภาพบางอย่างที่มีการดำเนินของโรคไปในทางที่เลวลง ไม่สามารถรักษาเยียวยาให้ดีขึ้นด้วยวิธีการรักษาอื่นๆ
การผ่าตัดเปลี่ยนตับเป็นวิธีการรักษาชนิดหนึ่งที่สามารถช่วยชีวิต และอาจจะทำให้หายขาดได้ผู้ป่วยสามารถมีชีวิตอยู่ได้นานในอัตราส่วนที่สูง
โดยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ประกอบกับที่ตับเป็นอวัยวะเดี่ยว ไม่เหมือนกับไตซึ่งเป็นอวัยวะคู่
คนสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยไตเพียงข้างเดียว และยังไม่มีสิ่งประดิษฐ์ใดที่สามารถใช้ทำหน้าที่แทนตับได้
ในกรณีของไต ยังมีเครื่องไตเทียมใช้รักษาได้ ดังนั้นการผ่าตัดเปลี่ยนตับจึงถือเป็นการรักษาโรคที่ได้ผลดีมากวิธีหนึ่ง
ปัจจัยที่จำเป็นในการผ่าตัดเปลี่ยนตับ
- การเลือกผู้ป่วย
- ตับปกติที่จะนำมาผ่าตัดเปลี่ยน
- ขบวนการ
ขั้นตอนและเทคนิคการผ่าตัด รวมทั้งเทคนิคการดมยาสลบ
- ยาที่ใช้ในการลดหรือกดปฏิกิริยาภูมิคุ้มกันของร่างกาย
- ค่าใช้จ่าย
- จริยธรรมและกฎหมาย
การเลือกผู้ป่วย
- ผู้ป่วยที่เหมาะสมสำหรับการรักษาโดยการผ่าตัดเปลี่ยนตับ
จะต้องได้รับการวินิจฉัยแน่นอนว่า เป็นโรคที่จะไม่มีโอกาสกลับคืนหรือดีขึ้นด้วยการรักษาโดยวิธีอื่นๆ
โรคตับจะเลวลงเรื่อยๆ วิธีการประเมินผู้ป่วยโรคตับที่ถือว่ามีประโยชน์มากที่สุด
เรียกว่า Child-Turcotte-Pugh (CTP) scoring system โดยที่ผู้ป่วยที่จัดอยู่ในกลุ่ม Child class A คะแนนรวมน้อยกว่า
7 ผู้ป่วยที่จัดอยู่ในกลุ่ม Child class B มีคะแนนรวม 7-9 และผู้ป่วยที่จัดอยู่ในกลุ่ม Child
class C จะมีคะแนนรวมมากกว่า 10 นอกจากวิธีนี้แล้ว ยังมีการให้คะแนนรูปแบบใหม่ที่เรียกว่า
Model for End-Stage Liver Disease (MELD) scoring system ซึ่งได้รับความนิยมมากขึ้นในปัจจุบัน หากไม่ได้รับการรักษาด้วยวิธีนี้จะมีชีวิตอยู่ได้ไม่เกิน 6 เดือน - 1 ปี
เช่น ผู้ป่วยที่เป็นตับวายอย่างรุนแรงและเฉียบพลัน ผู้ป่วยโรคตับแข็งระยะสุดท้ายที่มีโรคแทรกซ้อน
ผู้ป่วยมะเร็งตับบางชนิดบางระยะ หรือผู้ป่วยเด็กเล็กที่มีความผิดปกติของระบบทางเดินน้ำดีในตับ
เป็นต้น ผู้ป่วยควรจะต้องมีสภาพร่างกาย และสมรรถนะของอวัยวะในระบบอื่นๆ
ดีพอที่จะทนต่อการผ่าตัดใหญ่ได้ จะต้องมีสภาพทางจิตที่เหมาะสม เข้าใจและยอมรับการรักษาโดยวิธีนี้ได้
- ความรุนแรงของโรคตับที่เป็นอยู่
ถือเป็นขั้นตอนแรกในการพิจารณาให้การรักษาผู้ป่วยด้วยวิธีผ่าตัดเปลี่ยนตับ การประเมินจากลักษณะอาการและการตรวจร่างกายทางกายภาพ
การตรวจทางห้องปฏิบัติการที่จำเป็น รวมทั้งการตรวจทางรังสี
- จุดประสงค์สำคัญเพื่อวินิจฉัยความรุนแรงของโรคตับชนิดที่เรียกว่าระยะสุดท้าย
การตรวจโดยละเอียดยังช่วยให้ทราบหากมีข้อห้ามในการรักษาด้วยการผ่าตัดเปลี่ยนตับ
และประการสุดท้ายเพื่อประเมินความเหมาะสมสำหรับผู้ป่วยแต่ละรายซึ่งแตกต่างกันออกไป
หลักการพิจารณาตามสาเหตุของโรคตับ
- หลักการโดยสรุป
คือ ควรทำการเปลี่ยนตับเป็นหนทางเลือกสุดท้ายกรณีไม่มีการรักษาอื่น
และควรทำในผู้ป่วยที่หวังจะหายขาด จึงจะถือว่าเหมาะสมที่สุด
- ในกรณีผู้ป่วยอาการรุนแรง ควรพิจารณาผ่าตัดเปลี่ยนตับเมื่อ
- การทำงานของตับแย่มากแล้ว
- โอกาสอยู่รอดน้อยกว่าร้อยละ 90 ใน 1 ปี
- พบมีการติดเชื้อในน้ำที่เรียกว่าท้องมานมาก่อน
- พบอาการทางสมองอันเนื่องมาจากพิษของเสียจากตับรุนแรงระดับ 2 ในผู้ป่วยที่เป็นตับวายเฉียบพลัน
ข้อบ่งชี้ในการเปลี่ยนตับตามสาเหตุโรค
- โรคตับจากการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ
ซี และ บี ชนิดเรื้อรัง
- โรคตับจากการดื่มเหล้า
- ตับวายจากสาเหตุต่างๆ
เช่น ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ ไขมันในตับในผู้ป่วยตั้งครรภ์
หรือโรคตับอักเสบชนิดไม่ทราบสาเหตุ
- ข้อบ่งชี้อื่นๆ ได้แก่ มะเร็งตับ โรคตับจากเหล็กหรือทองแดง และโรคตับจากการถ่ายทอดความผิดปกติในการทำงานตับแต่กำเนิด
รวมทั้งโรคเส้นเลือดในตับตีบตัน ซึ่งพบได้น้อย
ตับที่จะนำมาผ่าตัดเปลี่ยน
- ตับปกติที่จะนำมาผ่าตัดเปลี่ยน จำเป็นจะต้องได้จากผู้ที่เพิ่งเสียชีวิต
โดยที่ตับนั้นยังทำงานอยู่ตลอดเวลาขณะที่เตรียม และก่อนจะนำไปใส่เปลี่ยนใหม่ ทั้งนี้แม้ว่าจะมีการตัดแบ่งตับบางส่วนจากผู้ที่เต็มใจบริจาคให้ในขณะที่มีชีวิตอยู่
เพื่อนำไปใช้ได้ก็ตาม ยังถือว่าผู้ที่ให้มีอัตราเสี่ยงที่สูงมาก
- ผู้ให้และผู้รับตับจะต้องมีหมู่เลือดเดียวกัน ซึ่งเข้ากันได้ และควรจะมีลักษณะทางกายวิภาคที่ใกล้เคียงกัน
- ลักษณะของผู้บริจาคที่ดี ต้องมีร่างกายสมบูรณ์แข็งแรง
สภาวะทางจิตใจที่ปกติ อายุมากกว่า 18 ปี และปราศจากโรคต่างๆ
ต่อไปนี้
- โรคติดเชื้อเอชไอวีและเอดส์
- โรคไวรัสตับอักเสบ
- โรคพิษสุราเรื้อรัง
- โรคทางจิตเวชที่กำลังรักษาอยู่
- โรคมะเร็ง
- โรคหัวใจและโรคปอด
- โรคเบาหวานที่เป็นมานานกว่า 7 ปี
ขบวนการขั้นตอนและเทคนิคการผ่าตัดและการดมยาสลบ
- การผ่าตัดเปลี่ยนตับเป็นการผ่าตัดที่ยุ่งยากสลับซับซ้อน
กินเวลาและมีอัตราเสี่ยงค่อนข้างสูงจำเป็นต้องอาศัยบุคลากรที่มีประสบการณ์ และความชำนาญมาก
มีการประสานงานและการสนับสนุนที่ดีพอเพียง ทั้งนี้รวมถึงการดูแลอย่างใกล้ชิด
ตลอดช่วงระยะเวลาการผ่าตัดและหลังผ่าตัด การผ่าตัดเอาตับออกจากผู้ที่บริจาคให้โดยจะต้องรักษาตับให้อยู่ในสภาพที่ดีที่สุด
ทั้งในช่วงก่อนและขณะผ่าตัด ปกติใช้น้ำยาพิเศษที่เย็นจัด ใส่เข้าทางหลอดเลือดดำตับเพื่อลดอุณหภูมิในตับและล้างเลือดเดิมที่มีอยู่ในตับให้หมดแล้วจึงเก็บตับแช่เย็นในภาวะปลอดเชื้อ
การเปลี่ยนตับจากตับของผู้ป่วยภาวะสมองตาย โดยจะนำตับทั้งหมดจากผู้บริจาคมาให้กับผู้รับบริจาค
เราไม่สามารถนำตับจากผู้เสียชีวิตแบบที่หัวใจหยุดเต้นมาใช้ได้ เพราะเมื่อตับเกิดภาวะขาดเลือดเนื้อเยื่อตับจะเสีย
ถ้านำตับนี้ไปเปลี่ยนให้กับผู้ป่วย ตับจะไม่ทำงาน การผ่าตัดประเภทนี้จึงไม่สามารถที่จะกำหนดเวลาได้ขึ้นกับมีการบริจาคอวัยวะเมื่อใด
ตับที่ได้มาอาจนำมาตัดแต่งให้ขนาดเล็กลงให้ขนาดเหมาะกับขนาดของเด็ก หรือบางกรณีนำมาแบ่งครึ่งให้กับผู้ป่วยสองคน
บางเหตุการณ์ที่จำเป็นเช่น กรณีของโรคตับวายเฉียบพลันมีการนำตับมาวางไว้ใกล้กับตำแหน่งตับ
เดิมโดยเอาตับเดิมออกเพียงครึ่งเดียว
- โดยทั่วไปนิยมนำตับไปใส่ให้กับผู้ป่วยโดยเร็ว
เพื่อป้องกันการเสื่อมสมรรถภาพ แต่ในปัจจุบันนี้สามารถเก็บรักษาตับไว้ได้นานมากกว่า
15
ชั่วโมงด้วยน้ำยาพิเศษบางชนิด
การผ่าตัดเอาตับออกทำพร้อมกันกับการเอาอวัยวะอื่นๆ ออกเพื่อการผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะอื่นด้วย
ได้แก่ ไต หัวใจ ตับอ่อน ผ่าตัดเอาตับที่มีพยาธิสภาพออกจากผู้ป่วย
เป็นขั้นตอนที่มีอันตรายมาก เพราะพยาธิสภาพของตับมักจะทำให้มีความผิดปกติของการแข็งตัวของเลือด
มีเส้นเลือดข้างเคียงมากมาย รวมทั้งจำเป็นจะต้องปิดกั้นการไหลเวียนของระบบเลือดดำที่กลับเข้าสู่หัวใจในขณะเอาตับออก
ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมากในระบบการไหลเวียนโลหิตทั่วร่างกายของผู้ป่วยซึ่งหากเกิดขึ้นเป็นเวลานานย่อมมีผลเสียตามมาอย่างมาก
- การคิดค้นประดิษฐ์เครื่องมือในการทำให้เลือดดำจากอวัยวะต่างๆ ภายในช่องท้องและส่วนล่างของร่างกาย
สามารถไหลกลับเข้าสู่หัวใจได้ในขณะที่ไม่มีตับ ช่วยทำให้ลดความเร่งรีบของขั้นตอนต่างๆ
ได้มาก การเปลี่ยนตับโดยนำตับมาจากผู้มีชีวิต
ทางประเทศแถบเอเชียมีการทำกันมาก โดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่นโดยนำตับกลีบซ้ายของผู้บริจาคไปให้กับผู้ป่วย
ต่อมาประเทศอเมริกา มีการดัดแปลงไปใช้แต่กลับได้ผลไม่ดี เนื่องจาก คนอเมริกันมีน้ำหนักมากตับกลีบซ้ายจึงไม่พอเพียงในที่สุดจึงมีการนำตับกลีบขวาซึ่งใหญ่กว่าแบ่งเอาไปให้ผู้รับ
ให้เข้าใจง่ายก็คือตัดตับ ออกไปร้อยละ 60 เอาไปให้ผู้แก่ผู้รับ
ส่วนตับกลีบซ้ายที่เหลืออยู่ก็จะมีการงอกกลับมาจนขนาดใกล้ปกติในระยะประมาณสองเดือนหลังการผ่าตัด
- การผ่าตัดใส่ตับใหม่ โดยนำตับที่ได้เตรียมไว้เรียบร้อยแล้ว
ใส่ที่ตำแหน่งเดิม เย็บต่อเส้นเลือดต่างๆ ที่เข้าและออกจากตับจำนวน 4 เส้น แล้วจึงเย็บต่อท่อทางเดินน้ำดี
- ทุกขั้นตอนของการผ่าตัดดังกล่าวแล้วจำเป็นจะต้องทำด้วยความละเอียดรอบคอบและระมัดระวัง
ความผิดพลาดหรือการข้ามขั้นตอน จะทำให้การผ่าตัดนี้ล้มเหลวลงทั้งหมดได้ วิสัญญีแพทย์และบุคลากรอื่นๆ
ที่เกี่ยวข้อง มีความสำคัญมาก และจะต้องมีการประสานงานกันอย่างดีในการที่จะรักษาสภาวะของผู้ป่วยให้อยู่ในดุลที่เหมาะสม
- เมื่อได้ตับดีที่จะนำมาเปลี่ยน
ขั้นตอนการผ่าตัดเอาตับเก่าออก และใส่ตับใหม่เป็นไปอย่างราบรื่น
สามารถดูแลรักษาสภาวะผู้ป่วยได้ดีตลอดการผ่าตัด ตับที่ใส่ให้ใหม่สามารถทำหน้าที่ได้เกือบจะในทันที
- การดูแลรักษาผู้ป่วยระยะหลังผ่าตัดอย่างใกล้ชิดก็มีความจำเป็นอย่างมากโดยจะต้องอาศัยบุคลากรผู้เชี่ยวชาญจากสาขาวิชาต่างๆ
ร่วมด้วย เพื่อป้องกันและแก้ไขภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้เสมอและรุนแรงโดยปกติหากไม่มีข้อแทรกซ้อนที่รุนแรง
ผู้ป่วยสามารถฟื้นตัวได้หลังผ่าตัดในระยะเวลาไม่นาน แต่ก็ยังจะต้องติดตามดูแลอย่างใกล้ชิดอีกช่วงระยะเวลาหนึ่ง
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับการใช้ยาลด หรือกดปฏิกิริยาภูมิคุ้มกัน
เพื่อให้ร่างกาย 'รับ' ตับใหม่ และหากร่างกายยังไม่ยอม 'รับ' ก็สามารถผ่าตัดเปลี่ยนตับใหม่อีกได้
ยาที่ใช้ในการลดหรือกดปฏิกิริยาภูมิคุ้มกันของร่างกาย
- ในภาวะปกติร่างกายของผู้ที่ได้รับอวัยวะใหม่จะ
'ไม่รับ' และจะ 'ขับออก'
อันเป็นปฏิกิริยาภูมิคุ้มกันที่เป็นปกติเป็นการป้องกันตนเองตามธรรมชาติ
การผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะจึงจำเป็นต้องใช้ยาชนิดนี้ตลอดไปเพื่อให้ร่างกายลดหรือกดการ
'ไม่รับ' เพื่อให้อวัยวะใหม่สามารถทำงานได้
ปัจจุบันนี้ยังไม่มียา ที่มีประสิทธิภาพสมบูรณ์ดีพร้อมทุกประการ
และไม่มีฤทธิ์ข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ จึงจำเป็นจะต้องมีการปรับระดับของยาให้เหมาะสมอยู่เสมอ
- ความสำเร็จส่วนหนึ่งของการผ่าตัดเปลี่ยนตับในปัจจุบัน
เกิดจากการค้นพบยากดภูมิต้านทานที่ดีมากชื่อ cyclosporineในปี
ค.ศ.1979 จนทำให้สมาคมโรคตับในประเทศสหรัฐอเมริกายอมรับแล้วว่า
การผ่าตัดเปลี่ยนตับถือเป็นการรักษาที่เหมาะสมในโรคตับระยะสุดท้าย โดยทั้งนี้ต้องเลือกทำในผู้ป่วยที่เหมาะสมด้วย
- หลังการเปลี่ยนตับจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับยากดภูมิต้านทาน
เพื่อไม่ให้ภูมิต้านทานของร่างกายไปทำลายตับที่ได้มาใหม่ ซึ่งไม่ใช่เนื้อเยื่อของตนเอง
ถึงแม้ก่อนทำการเปลี่ยนจะมีการตรวจว่ากรุ๊ปเลือดของผู้รับ และผู้บริจาคตรงกันแล้วก็ตาม
ก็ยังเกิดภาวะต้านตับได้ถ้าหยุดยาเอง หรือไม่ได้รับยากดภูมิต้านทาน
ตับที่ได้รับมาจะเกิดการอักเสบและตับจะเสียไปในที่สุด
- คนไข้หลังเปลี่ยนตับจะต้องทานยากดภูมิตลอดชีวิต
โดยระยะสามเดือนแรกหลังการผ่าตัด จะได้รับยาปริมาณมาก สองถึงสามชนิด หลังสามเดือนจะเหลือยาสองชนิด
จากนั้นจะค่อยๆ ลดปริมาณยาลงเรื่อยๆ ทานวันละสองเวลาเช้าเย็น
บางคนเหลือยาเพียงชนิดเดียวทานวันละครั้ง
- ยากดภูมิต้านทานชนิดต่างๆ ได้แก่
- ยาไซโคลสปอริน (cyclosporine)
- แทคโครลิมัส (tacrolimus)
- อะซาไทโอปรีน (azathioprine)
- ไมโคเฟ็นโนเลต (mycophenolate)
- ราปามายซิน (rapamycin)
- สเตียรอยด์ (steroid)
ค่าใช้จ่าย
- การผ่าตัดเปลี่ยนตับมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง
จึงจำเป็นจะต้องพิจารณาถึงฐานะทางการเงิน ตลอดจนความคุ้มทุนของผู้ป่วยที่จะรับการรักษาโดยวิธีนี้
ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
- นอกจากนี้จะต้องคำนึงถึงสังคมส่วนรวม
นอกเหนือจากส่วนบุคคลด้วย
จริยธรรมและกฎหมาย
- มีส่วนเกี่ยวข้องกับการผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะเป็นอย่างมากเพราะตับที่จะนำมาใช้จะต้องอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์มีสมรรถภาพดี
ซึ่งหากนำมาจากเจ้าของตับที่เสียชีวิต และการทำงานของอวัยวะระบบต่างๆหยุดโดยสิ้นเชิงแล้ว
ตับที่ผ่าตัดออกจะไม่สามารถทำงานได้
- ปัจจุบันนี้หลายประเทศในโลกมีกฎหมายเป็นที่ยอมรับว่า
ผู้ป่วยที่มีพยาธิสภาพทางสมองอย่างมาก ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเป็นผู้ป่วยที่ประสบอุบัติเหตุทางสมองอย่างรุนแรง
และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญลงความเห็นวินิจฉัยแน่นอนแล้วว่า ผู้ป่วยไม่สามารถมีชีวิตอยู่รอดต่อไปได้อีกไม่ว่าจะได้รับการรักษาโดยวิธีการใดๆ
ก็ตาม ถือว่า 'สมองตาย' และ
ให้ถือได้ว่า 'ตาย' เมื่อได้รับความยินยอมจากญาติ
ในการที่จะบริจาคอวัยวะเพื่อเป็นการช่วยชีวิตผู้ป่วยอื่นแล้ว การผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะจึงสามารถทำได้
ทั้งนี้จะต้องไม่มีการ ซื้อ-ขาย หรือบังคับเป็นเด็ดขาด
- การประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนและสังคมเข้าใจ
และยอมรับในเรื่องที่เกี่ยวกับการผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะ
เป็นสิ่งที่สำคัญอย่างมาก ที่จะทำให้วิวัฒนาการแขนงนี้ดำเนินต่อไปได้
- ในประเทศไทยได้มีประกาศของแพทยสภา
เรื่องเกณฑ์การวินิจฉัยสมองตาย เพื่อเป็นเกณฑ์กำหนดให้สถาบันทางการแพทย์ถือปฏิบัติเมื่อวันที่
30
มิถุนายน 2532 สำหรับการเลือกผู้บริจาค
จำเป็นจะต้องเป็นสามีภรรยา ญาติพี่น้อง หรือแม้แต่เพื่อนใกล้ชิดที่มีหมู่เลือดชนิดเดียวกัน
การรับบริจาคจากผู้ไม่เกี่ยวข้องเป็นข้อควรระวัง เพราะอาจจะทำให้มีการซื้อขายอวัยวะเกิดขึ้นโดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา
สำหรับในประเทศไทย
แพทยสภาไม่อนุญาตให้นำตับจากผู้บริจาคซึ่งไม่ใช่ญาติโดยสายเลือด (ยกเว้นแต่สามีภรรยา) ไปให้กับผู้รอรับอวัยวะได้ ในประเทศไทยขณะนี้เริ่มมีการเปลี่ยนตับโดยตัดกลีบซ้ายจากบิดามารดาให้กับลูก
- การผ่าตัดเปลี่ยนตับ
เริ่มและเจริญขึ้นในช่วงระยะเวลาที่ไม่นานนัก และรุดหน้าอย่างรวดเร็วผู้ป่วยส่วนหนึ่งที่เป็นโรคตับ
หากไม่ได้รับการรักษาโดยวิธีนี้จะไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้ จำนวนผู้ป่วยที่รอดชีวิตมีมากขึ้นและอยู่นานขึ้น
มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น อัตราเสี่ยงลดลง ความสำเร็จที่เกิดขึ้นนอกจากวิวัฒนาการทางการแพทย์แล้วการยอมรับจากสาธารณชนเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างมาก
ที่มา
: นพ.วรวุฒิ เจริญศิริ
ศูนย์ข้อมูลสุขภาพกรุงเทพ
ศูนย์ข้อมูลสุขภาพกรุงเทพ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น