วันพุธที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2557

กฎหมายแพ่งและกฎหมายอาญา ที่เกี่ยวข้องกับการประกอบวิชาชีพการพยาบาล (1)


กฎหมายแพ่งและกฎหมายอาญา ที่เกี่ยวข้องกับการประกอบวิชาชีพการพยาบาล
************************************
 
1. กฎหมายแพ่ง เฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับการประกอบวิชาชีพการพยาบาล
                       ในประเทศไทยไดจัดทำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ไว้ในเล่มเดียวกัน มีทั้งสิ้น 6 บรรพคือ บรรพ 1 หลักทั่วไป  บรรพ 2 หนี้  บรรพ 3 เอกเทศสัญญา บรรพ 4 ทรัพย์สิน บรรพ ครอบครัว และบรรพ 6 มรดก  ประกอบด้วยสาระสำคัญๆ  เช่น  บุคคล  ทรัพย์  นิติกรรมสัญญา  หนี้  ละเมิด  ซื้อขาย  แลกเปลี่ยน  ให้  เช่าทรัพย์  เช่าซื้อ  จ้าง  รับขน  ยืม  ฝากทรัพย์  ค้ำประกัน  จำนอง จำนำ  ตัวแทน  นายหน้า  เป็นต้น  ในแต่ละลักษณะได้กำหนดรายละเอียดต่าง ๆ ไว้   แต่ในส่วนที่อาจเกี่ยวข้องกับวิชาชีพพยาบาลที่พบได้แก่เรื่อง บุคคล  นิติกรรม  สัญญา  หนี้  และละเมิด เป็นต้น
 
1. บุคคล
                       ตามที่กฎหมายบัญญัติไว้บุคคล มี 2ประเภท คือ บุคคลธรรมดา และ นิติบุคคล
                       (1) บุคคลธรรมดา
หมายถึง บุคคลธรรมดาทั่วไป  ซึ่งกฎหมายกำหนดได้สภาพบุคคลธรรมดาไว้ว่า  สภาพบุคคลย่อมเริ่มแต่เมื่อคลอดแล้วอยู่รอดเป็นทารกและสิ้นสุดลงเมื่อตาย ทารกในครรภ์มารดาก็สามารถมีสิทธิต่างๆ ได้ หากว่าภายหลังคลอดแล้ว อยู่รอดเป็นทารก ” (มาตรา 15)
                       (2) นิติบุคคล
                       หมายถึง บุคคลตามกฎหมายเป็นการที่กฎหมายสมมติขึ้น ตามที่ได้บัญญัติไว้ว่า นิติบุคคลจะมีขึ้นได้ก็แต่อาศัยอำนาจแห่งประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่น” (มาตรา 65) 
                   ดังนั้นจึงสรุปได้ว่า การเกิดขึ้น และสิ้นสุดของสภาพนิติบุคคลจึงต้องเป็นไปโดยกฎหมายเท่านั้น ซึ่งอาจแบ่งเป็นประเภทใหญ่ๆ ได้สองประเภทคือ นิติบุคลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  กับ นิติบุคคลตามกฎหมายอื่น  
                   รูปลักษณะของนิติบุคคลอาจจะเป็นคนหมู่หนึ่ง หรือทรัพย์สินกองหนึ่ง หรือกิจการอันใดอันหนึ่ง ซึ่งกฎหมายกำหนดให้เป็นบุคคลแยกต่างหากจากบุคคลธรรมดา และกฎหมายกำหนดให้นิติบุคคลมีสิทธิและหน้าที่บางอย่างได้ เช่น ให้มีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินเป็นเจ้าหนี้ ลูกหนี้ และเป็นโจทก์เป็นจำเลยในศาลได้ การที่จะเป็นนิติบุคคลก็เฉพาะกรณีที่มีกฎหมายบัญญัติไว้ว่าให้สิ่งนั้นสิ่งนี้เป็นนิติบุคคล ซึ่ง ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 72 กำหนดให้สิ่งต่าง ๆ รวม 7 จำพวกเป็นนิติบุคคล และยังมีกฎหมายพิเศษได้บัญญัติให้สิ่งต่าง ๆ เป็นนิติบุคคลอีก ดังต่อไปนี้
                   1. องค์กรต่าง ๆ ของรัฐบาล ได้แก่ สำนักนายกรัฐมนตรี, กระทรวง, กรม, จังหวัด, องค์การบริหารส่วนจังหวัด, เทศบาล, สุขาภิบาล, องค์การบริหารส่วนตำบล, กองทัพ เป็นต้น
                   2. วัดที่ได้รับอนุญาตให้ตั้งตามกฎหมายแล้ว (สำนักสงฆ์ไม่เป็นนิติบุคคล)
                   3. ห้างหุ้นส่วนที่จดทะเบียนแล้ว
                   4. บริษัทจำกัด และบริษัทมหาชน (ต้องจดทะเบียน ถ้าไม่จดทะเบียนก็ไม่เป็นบริษัท)
                   5. สมาคม (ต้องจดทะเบียน)
                   6. มูลนิธิที่รัฐบาลให้อำนาจแล้ว
                   7. นิติบุคคลอื่น ๆ ที่กฎหมายพิเศษบัญญัติให้เป็นนิติบุคคล เช่น สภาการพยาบาล เป็นนิติบุคคล ตามพระราชบัญญัติวิชาชีพการพยาบาลและผดุงครรภ์ พ.. 2528 หรือ สหกรณ์เป็นนิติบุคคล ตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ สุเหร่าหรือมัสยิดอิสลาม เป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติ ว่าด้วยการจัดตั้งมัสยิดอิสลาม
                       ข้อสังเกต
                       ตามหลักนิติบุคคลย่อมมีสิทธิและหน้าที่ เช่นเดียวกับบุคคลธรรมดา เช่น มีสิทธิทำนิติกรรมสัญญา, ถือกรรมสิทธิในทรัพย์สิน, เป็นเจ้าหนี้-ลูกหนี้ เป็นโจทก์-จำเลย ได้ แต่มีข้อยกเว้น 2 ประการคือ
                   1. มีสิทธิและหน้าที่จำกัดภายในขอบเขตวัตถุประสงค์ที่จดทะเบียนไว้ เช่น บริษัท แดง จำกัด จดทะเบียนระบุวัตถุประสงค์ค้าขายเครื่องเหล็ก ก็จะต้องดำเนินการขายเครื่องเหล็กเท่านั้น จะไปทำกิจการให้กู้ยืมเงินไม่ได้
                  2. ไม่มีสิทธิและหน้าที่ ซึ่งโดยสภาพจะพึงมีพึงได้เฉพาะแต่บุคคลธรรมดาเท่านั้น เช่น ไม่มีสิทธิในครอบครัว การสมรส รับบุตรบุญธรรม ออกเสียงเลือกผู้แทนราษฎร ไม่มีสิทธิรับมรดกในฐานะทายาทโดยธรรม ซึ่งเป็นสิทธิที่จะมีได้เฉพาะบุคคลธรรมดา แต่มีสิทธิรับมรดกตามพินัยกรรมได้
 
2. นิติกรรม สัญญา
                       (1) นิติกรรม 
       นิติกรรม หมายความว่า การใดๆ อันทำลงโดยชอบด้วยกฎหมายและด้วยใจสมัคร มุ่งโดยตรงต่อการผูกนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคล เพื่อจะก่อ  เปลี่ยนแปลง  โอน  สงวน  หรือระงับซึ่งสิทธิ (มาตรา149)
                       ผลของนิติกรรมที่กระทำขึ้นนั้น มี 3 กรณี คือ
       1. สมบูรณ์      คือสามารถบังคับได้ตามนิติกรรมนั้นๆ  ในการที่จะก่อซึ่งสิทธิ เปลี่ยนแปลงสิทธิ   โอนสิทธิ   สงวนสิทธิ  หรือระงับซึ่งสิทธิต่างๆ
       2. เป็นโมฆะ คือสูญเปล่ามาตั้งแต่ต้น เสมือนหนึ่งไม่ได้มีนิติกรรมเช่นนั้นเกิดขึ้นเลย และนิติกรรมนั้นก็ไม่อาจให้สัตยาบันได้แก่กันได้  และผู้มีส่วนได้เสียคนหนึ่งคนใดจะยกความเสียเปล่าแห่งโมฆะกรรมขึ้นกล่าวอ้างได้  (มาตรา172)
       3. เป็นโมฆียะ คือสมบูรณ์ อยู่ในขณะที่ทำนิติกรรมนั้น แต่อาจถูกบอกล้างเสียก็ได้โดย
บุคคลที่เป็นฝ่ายเสียเปรียบแห่งโมฆียะกรรมนั้นๆ (มาตรา175)  เป็นผลให้นิติกรรมนั้นสิ้นสุดลงและตกโมฆะมาแต่เริ่มแรกที่ทำนิติกรรมนั้นเลยทีเดียว และกฎหมายกำหนดให้ผู้ที่เป็นคู่กรณีกลับคืนสู่ฐานะเดิม ดังเช่นก่อนทำนิติกรรมอันนั้น แต่ถ้าหากเป็นการพ้นวิสัยที่จะกลับคืนสู่ฐานะเดิมได้ กฎหมายก็กำหนดให้ได้รับค่าเสียหายชดใช้แทน (มาตรา176)    อนึ่ง โมฆียะกรรมนั้นอาจให้สัตยาบันได้ โดยผู้ที่มีสิทธิบอกล้างนิติกรรมอันนั้น เป็นผลให้นิติกรรมนั้นเป็นการสมบูรณ์มาแต่เริ่มแรก (มาตรา177)
 
บุคคลที่กฎหมายจำกัดสิทธิในการทำนิติกรรม
โดยปกติแล้วบุคคลทุกๆคนมีสิทธิในการทำนิติกรรมสัญญาได้ นับตั้งแต่เริ่มมีสภาพบุคคล แต่เนื่องจากบุคคลบางจำพวกเป็นผู้หย่อนความสามารถ  กฎหมายจึงเข้าไปให้ความคุ้มครองบุคคลเหล่านั้น  เพื่อไม่ให้ทำนิติกรรมสัญญาใดอันเป็นการเสียเปรียบต่อบุคคลเช่นว่านั้น  กฎหมายจึงบัญญัติจำกัดสิทธิในการทำนิติกรรมสัญญาบางอย่างเอาไว้  ถ้าหากว่าหากมีการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติดังกล่าวแล้วมีผลทำให้นิติกรรมสัญญานั้นตกเป็นโมฆียะ  ได้แก่บุคคลดังต่อไปนี้
1.       ผู้เยาว์  ซึ่งหมายถึงบุคคลที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ   คือ มีอายุไม่ครบ 20 ปีบริบูรณ์  แต่ผู้มีอายุไม่ครบ 20 ปีบริบูรณ์อาจพ้นจากการเป็นผู้เยาว์ได้ตามมาตรา 20 ที่ว่า ผู้เยาว์ย่อมบรรลุนิติภาวะเมื่อทำการสมรส หากการสมรสนั้นได้ทำตามบทบัญญัติมาตรา 1448 นั่นคือ การสมรสจะทำได้ต่อเมื่อชายและหญิงมีอายุสิบเจ็ดปีบริบูรณ์  แต่ในกรณีที่มีเหตุอันสมควร ศาลอาจอนุญาตให้ทำการสมรสก่อนนั้นได้(มาตรา19-20)
2.       คนวิกลจริต  หมายถึง บุคคลที่มีสมองพิการ หรือจิตใจไม่ปกติ  โดยมีอาการหนักถึงขนาดเสียสติ พูดจาไม่เข้าใจ และไม่สามารถรับรู้เรื่องราวต่างๆได้
3.       คนไร้ความสามารถ หมายถึง บุคคลวิกลจริตที่ศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ
4.       คนเสมือนไร้ความสามารถ หมายถึง บุคคลที่ไม่สามารถจัดการงานของตนเองได้ เพราะกายพิการหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบหรือประพฤติสุรุ่ยสุร่ายเสเพลเป็นอาจิณ หรือติสุรายาเมา หรือมีเหตุอื่นในทำนองเดียวกัน(มาตรา32)
5.       บุคคลล้มละลาย นับตั้งแต่ที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์
 
                       (2) สัญญา
                       สัญญา เป็นนิติกรรมหลายฝ่ายเกิดจากการแสดงเจตนาของบุคคลตั้งแต่สองฝ่ายขึ้นไป  ซึ่งแต่ละฝ่ายนั้นอาจจะเป็นบุคคลคนเดียวหรือหลายคนก็ได้  สัญญาเป็นนิติกรรมอย่างหนึ่ง  ฉะนั้นจึงนำเอาหลักเกณฑ์เกี่ยวกับความสมบูรณ์ของนิติกรรมมาบังคับใช้แก่สัญญาด้วย  แต่เนื่องจากสัญญานั้นเกิดจากการแสดงเจตนาของบุคคลสองฝ่ายขึ้นไป  จึงต้องนำหลักเกณฑ์ของการแสดงเจตนาของบุคคลหลายฝ่ายมาบังคับใช้เพิ่มเติมจากหลักเกณฑ์ความสมบูรณ์ของการแสดงเจตนาที่เป็นนิติกรรมโดยทั่วๆ ไป
                 การเกิดสัญญา  สัญญาเป็นนิติกรรมหลายฝ่ายเกิดจากการแสดงเจตนาของบุคคลตั้งแต่สองฝ่ายขึ้นไป  โดยฝ่ายหนึ่งแสดงเจตนาเป็นคำเสนอและอีกฝ่ายแสดงเจตนาเป็นคำสนอง  เมื่อคำเสนอและคำสนองถูกต้องตรงกันจึงเกิดสัญญาขึ้น
                       ผลของสัญญา  เมื่อเกิดสัญญาขึ้นแล้วผลของสัญญาย่อมทำให้เกิดหนี้แก่คู่สัญญา  หนี้ที่เกิดจากสัญญาย่อมบังคับกันได้ตามหลักกฎหมายลักษณะหนี้ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์   คือต่างฝ่ายต่างมีสิทธิและมีหน้าที่ ที่จะต้องปฏิบัติต่อกัน
       ตัวอย่างที่เกี่ยวข้อง เช่น สัญญารับจ้างเฝ้าไข้ระหว่างผู้ป่วยกับพยาบาล ที่เรียกกันเป็นภาษาพูดว่า พยาบาลเฝ้าไข้ หรือ Special Nurse”  เช่นนี้ฝ่ายผู้ป่วยซึ่งเป็นคู่สัญญาย่อมมีสิทธิเรียกร้องการบริการทางการพยาบาลจากพยาบาลคู่สัญญา  และมีหน้าที่ต้องจ่ายค่าตอบแทน(ชำระหนี้) แก่พยาบาล   และฝ่ายพยาบาล ซึ่งเป็นคู่สัญญาย่อมมีสิทธิได้รับค่าตอบแทนจากผู้ป่วย และมีหน้าที่(ชำระหนี้)ให้บริการทางการพยาบาลแก่ผู้ป่วยตามสัญญา   หรือ ในกรณีสัญญารับจ้างทำงานพิเศษให้กับโรงพยาบาลเอกชน ที่เราเรียกกันว่า “Part Time”   หรือสัญญารับจ้างเข้าทำงานเป็นพนักงานของโรงพยาบาลไม่ว่าเป็นของรัฐหรือเอกชนแบบ “Full Time” ก็ตามต่างฝ่าย ก็ต่างมีสิทธิและมีหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติต่อกันตามสัญญา ถ้าหากว่าฝ่ายใดไม่ปฏิบัติตามสัญญาเป็นผู้ผิดสัญญาก่อน ก็เป็นเหตุให้อีกฝ่ายมีสิทธิเรียกร้องบังคับให้เป็นไปตามสัญญา หรือเรียกร้องค่าเสียหายอันเนื่องจากการมิได้เป็นไปตามนิติกรรมสัญญานั้นได้  
 
3. หนี้
       สาระสำคัญ หรือ องค์ประกอบที่อยู่ในความหมายของหนี้ มีลักษณะ 5 ประการต่อไปนี้
1. หนี้เป็นความสัมพันธ์ในกฎหมาย
       หนี้เป็นความสัมพันธ์ในกฎหมาย หมายความว่า กฎหมายรับรู้และบังคับให้  การรับรู้และบังคับให้ก็คือการฟ้องร้องต่อศาลได้  สามารถอ้างได้ว่ามีสิทธิได้รับชำระหนี้   แต่ถ้าเป็นความสัมพันธ์นอกการรับรู้ของกฎหมาย แม้โดยข้อเท็จจริงจะมีความสัมพันธ์กัน ก็ต้องถือว่าไม่มีหนี้  เช่น หนี้ขาดหลักฐานเป็นหนังสือ  หนี้จากการพนันขันต่อ เป็นต้น
2. หนี้เป็นความผูกพันระหว่างบุคคลสองฝ่าย 
       หนี้เป็นความผูกพันระหว่างบุคคลสองฝ่าย  ฝ่ายหนึ่งเรียกว่าเจ้าหนี้ อีกฝ่ายเรียกว่า
ลูกหนี้  และหนี้ระหว่างบุคคลสองฝ่ายที่มีต่อกัน เป็นสิทธิอย่างหนึ่งที่เรียกว่า บุคคลสิทธิ
3. ต้องมีมูลแห่งหนี้
มูลแห่งหนี้เป็นตัวที่ก่อให้เกิดหนี้  ถ้าไม่มีมูลแห่งหนี้ก็ไม่มีหนี้ผูกพันกัน มูลแห่งหนี้เรียกอีกอย่างหนึ่งว่าที่มาแห่งหนี้ หรือบ่อเกิดแห่งหนี้ มี 5 ลักษณะ คือ 1) สัญญา เช่น สัญญาชื้อขาย สัญญาจ้าง  สัญญายืม 2) ละเมิด เป็นนิติเหตุซึ่งตรงข้ามกับสัญญาซึ่งเป็นนิติกรรม  3) การจัดการงานนอกสั่ง เป็นการทำกิจการแทนผู้อื่นโดยเขามิได้ว่าขานวานใช้ 4) ลาภมิควรได้ เป็นการได้มาซึ่งทรัพย์สิ่งใดโดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ 5) กฎหมาย เช่นหนี้อันเนื่องมาจากสถานะของบุคคล หรือกฎหมายอื่นๆบัญญัติไว้
4. ต้องมีวัตถุแห่งหนี้
       วัตถุแห่งหนี้ หมายถึง สิ่งที่เจ้าหนี้มีสิทธิเรียกให้ลูกหนี้ชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้  หรือเป็นหน้าที่ของลูกหนี้ต้องชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ ซึ่งมีอยู่ 3 ประการ คือ กระทำการ งดเว้นกระทำการ และส่งมอบ (โอน) ทรัพย์สิน
5. ต้องมีการบังคับให้ชำระหนี้ได้
       การบังคับให้ชำระหนี้ได้ หมายถึงหนี้ที่สามารถบังคับกันได้  ตรงข้ามกับหนี้ที่บังคับไม่ได้ เป็นเพียงหนี้ธรรมดาเท่านั้น  เช่น  หนี้ขาดอายุความ  หนี้ที่ขาดหลักฐานเป็นหนังสือ  จะอ้างเอาผลแห่งหนี้มาบังคับแก่ลูกหนี้ไม่ได้